ภาพรวม
ภาวะขนดก (Hirsutism) คือ โรคที่ผู้หญิงมีขนขึ้นตามร่างกายมากเกินไป มีลักษณะคล้ายเพศชาย มักพบว่า มีขนขึ้นบริเวณใบหน้า หน้าอก และแผ่นหลัง
ภาวะขนดก คือการมีขนขึ้นมากเกินจากการที่ร่างกายมีฮอร์โมนเพศชาย (ฮอร์โมนแอนโดรเจน)มากเกินไป รวมถึงฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนด้วย
สาเหตุภาวะขนดก
ภาวะขนดกอาจมีสาเหตุมาจาก:
-
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) คือ โรคที่มักเกิดขึ้นในวัยผู้หญิงวัยเจริญพันธ์ สาเหตุเกิดมาจากภาวะฮอร์โมนเพศไม่สมดุล เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ภาวะ PCOS อาจจะค่อยๆแสดงอาการด้วยการมีขนขึ้นมากเกินไป รอบเดือนผิดปกติ โรคอ้วน ภาวะมีบุตรยาก และบางครั้งอาจเกิดถุงน้ำเพิ่มทวีมากขึ้นที่รังไข่
-
กลุ่มอาการคุชชิง เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง อาจเป็นเพราะต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลมากเกินไป หรืออาจมาจากการใช้ยาบางชนิด เช่น เพรดนิโซโลนมาเป็นระยะเวลานาน
-
โรค Congenital adrenal hyperplasia เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากการผลิตสเตรอยด์ฮอร์โมน ที่รวมไปถึงคอร์ติซอล และแอนโดรเจนที่ผลิตจากต่อมหมวกไตของเราเอง
-
เนื้องอก พบเห็นได้ไม่บ่อยมากนัก เกิดมาจากเนื้องอกที่หลั่งฮอร์โมนแอนโดรเจนในรังไข่ หรือการทำงานของต่อมหมวกไตก็เป็นสาเหตุของภาวะขนดกได้เช่นกัน
-
การใช้ยาบางชนิด การได้รับยาบางชนิดอาจเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะขนดกได้ เช่น ไมนอกซิดิล (ไมนอกซิดิน ,โรเกน) ดานาซอล เป็นยาไว้รักษาผู้หญิงที่มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ยาเทสโทสเตอโรน (Androgel, Testim) และ Dehydroepiandrosterone (DHEA)เป็นฮอร์โมนต้านความชรา หากคู่ของคุณใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอนโดรเจน คุณอาจได้รับผลกระทบจากสิ่งนี้ด้วยโดยผ่านการสัมผัส
หลายครั้งพบว่าภาวะขนดกอาจเกิดขึ้นโดยไม่สามารถหาสาเหตุได้.
อาการของภาวะขนดก
ภาวะขนดก คือ การที่มีขนแข็งๆ และมีขนสีดำงอกขึ้น และปรากฎตามร่างกายในส่วนที่ผู้หญิงปกติไม่ควรมี เช่น บนใบหน้า หน้าอก หน้าท้องช่วงล่าง ต้นขาด้านใน และแผ่นหลัง
เมื่อระดับของแอนโดรเจนสูงขึ้นจึงเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะขนดกขึ้น ส่วนสัญญาณบ่งชี้อย่างอื่นอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะแสดงออกมาให้เห็น กระบวนการนี้เราเรียกว่า virilization สัญญาณ ของกระบวน virilization คือ:
-
เสียงห้าว
-
หัวล้าน
-
เป็นสิว
-
เต้านมมีขนาดลดลง
-
มีกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้น
-
คลิตอริสมีขนาดใหญ่ขึ้น
ภาวะขนดกควรไปพบแพทย์เมื่อไร
หากคุณคิดว่าคุณมีขนสากแข็งขึ้นบนใบหน้าหรือตามร่างกาย ควรปรึกษาแพทย์ถึงทางเลือกในการรักษา
การมีขนขึ้นที่มากเกินไปบนใบหน้า หรือบริเวณตัว มักเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับโรคประจำตัว คุณควรพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโรค หากพบว่ามีขนขึ้นมาอย่างรวดเร็ว หรือรุนแรงบนบริเวณใบหน้าหรือลำตัวในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน ผู้ป่วยอาจต้องพบแพทย์เฉพาะทางด้านฮอร์โมน (แพทย์ด้านต่อมไร้ท่อ) หรือด้านผิวพรรณ (แพทย์ผิวหนัง)
ปัจจัยเสี่ยง
ขนดกอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่อาจทำให้เกิดแนวโน้มจะเป็นภาวะดังกล่าวได้ มีดังต่อไปนี้:
-
ประวัติครอบครัว มีโรคหลายชนิดที่เป็นสาเหตุของภาวะขนดก รวมถึงโรค congenital adrenal hyperplasia และภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ ที่ส่งต่อกันทางพันธุกรรม
-
มาจากเชื้อชาติ พบว่าผู้หญิงแถบเมริเตอร์เรเนียน ตะวันออกกลาง และทางแถบเอเซียใต้มักมีขนขึ้นตามตัวมากกว่าผู้หญิงชนชาติอื่นโดยไม่สามารถชี้ชัดสาเหตุได้
-
โรคอ้วน ภาวะที่อ้วนขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากการผลิตแอนโดรเจนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ภาวะขนดกมีอาการแย่ลง
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะขนดก
โรคขนดกทำให้เกิดความเครียดทางอารมณ์ ผู้หญิงบางคนจะรู้สึกไม่มั่นใจที่มีขนขึ้นในที่ไม่ควรขึ้น บางคนอาจเกิดภาวะซึมเศร้าได้ ถึงแม้โรคขนดกจะไม่ใช่ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นทางร่างกายก็ตาม แต่ตัวโรคจริงๆแล้วนั้นก็มีสาเหตุมาจากภาวะฮอร์โมนไม่สมดุลในร่างกายนั่นเอง
หากคุณเป็นโรคขนดก และมีปัญหาเกี่ยวกับรอบเดือน คุณอาจอยู่ในภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ ซึ่งส่งผลยับยั้งการเจริญพันธ์ได้ ผู้หญิงที่ต้องได้รับยาในการรักษาโรคขนดกควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ เพราะมีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ผิดปกติ
การป้องกันภาวะขนดก
ตามปกติแล้วนั้นโรคขนดกไม่สามารถป้องกันได้ แต่การลดน้ำหนักหากคุณมีน้ำหนักเกินอาจช่วยลดโรคขนดกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากว่าคุณมีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบร่วมด้วย
การวินิจฉัยภาวะขนดก
การตรวจโดยวัดระดับฮอร์โมนในเลือด รวมถึงฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ที่อาจนำมาช่วยในการตัดสินใจหากพบระดับแอนโดรเจนสูงอันเป็นสาเหตุของโรคขนดก
แพทย์อาจจะตรวจบริเวณหน้าท้องของผู้ป่วยและตรวจสอบกระดูกเชิงกรานเพื่อมองหาก้อนในบริเวณนั้นๆที่อาจนำไปสู่การเกิดเนื้องอก
การรักษาภาวะขนดก
การรักษาโรคขนดกที่ไม่มีอาการของโรคต่อมไร้ท่ออาจไม่มีความจำเป็นต้องรักษา สำหรับผู้หญิงที่มีความต้องการ หรือมองหาวิธีการรักษา อาจรักษาตามอาการ รักษาด้วยการดูแลตนเองเป็นประจำกับขนที่ไม่พึงประสงค์ และอาจลองใช้วิธีบำบัดที่มีหลายรูปแบบ และการรับประทานยา
การรับประทานยา
หากเครื่องสำอาง หรือการกำจัดขนด้วยตนเองไม่ได้ผล ลองปรึกษาแพทย์เรื่องการใช้ยาในการรักษาโรคขนดก การรักษาโรคมักจะใช้เวลานานประมาณ 6 เดือน เป็นค่าเฉลี่ยของวงจรรูขุมขน เช่น
- การใช้ยาคุมกำเนิด การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด หรือฮอร์โมนคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเกสตินสำหรับการรักษาโรคขนดกที่มีสาเหตุมาจากการผลิตแอนโดรเจน การใช้ยาคุมกำเนิดเป็นการรักษาทั่วไปของโรคขนดกในผู้หญิงที่ไม่ต้องการตั้งครรถ์ ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ อาการคลื่นไส้ และปวดศีรษะ
- ยาต้านแอนโดรเจน เป็นยาที่จะไปยับยั้งแอนโดรเจนจับกับตัวรับในร่างกาย ยาดังกล่าวจะถูกนำมาใช้กับผู้ป่วยที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดมากกว่า 6 เดือน แต่ยังมีผลการรักษาไม่เป็นที่น่าพอใจ ยาต้านแอนโดรเจนที่ถูกนำมาใช้ทั่วไปในการรักษาโรคขนดก คือ ยาสไปโรโนแลคโตน (Aldactone, CaroSpir) เป็นยาที่ใช้ได้ผลพอประมาณและเห็นผลการรักษาหลังจากใช้ยาอย่างน้อย 6 เดือน ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นอาจทำให้รอบเดือนมีปัญหา เพราะตัวยาจะเป็นสาเหตุทำให้การตั้งครรถ์ผิดปกติ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากหากสตรีที่ใช้ยานี้ควรมีการคุมกำเนิดอย่างเคร่งครัด
- ยาทาเฉพาะที่ ครีม Eflornithine (วานิก้า) คือ ยาทาเฉพาะที่สำหรับรักษาภาวะขนดกในสตรี โดยทาลงบริเวณใบหน้าที่มีอาการอย่างน้อยวันละสองครั้ง เป็นยาที่ช่วยชะลอการเกิดขนขึ้นมาใหม่ แต่จะไม่สามารถกำจัดขนที่ขึ้นมาก่อนได้ หรืออาจใช้ยาร่วมกับการรักษาด้วยเลเซอร์เพื่อผลลัพธ์ที่ดีขึ้น
ขั้นตอนการรักษา
การรักษาด้วยวิธีการกำจัดขนด้วยตนเองอาจใช้เวลานาน จึงอาจต้องนำการรักษารูปแบบอื่นมาช่วยร่วมกัน เช่น:
-
การรักษาด้วยเลเซอร์ คือ การใช้ลำแสงเลเซอร์พลังสูงยิงผ่านไปยังผิวหนังเพื่อทำลายรูขุมขนและป้องกันไม่ให้ขนเติบโตได้อีก(การกำจัดขนถาวรด้วยแสง) ผู้ป่วยอาจต้องรักษาหลายครั้ง สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการขนสีดำ น้ำตาลหรือสีน้ำตาลแดง การกำจัดขนถาวรคือทางเลือกที่ดีกว่าการทำอิเล็กโทรลิซิส. ปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงและประโยชน์ของการรักษาด้วยเลเซอร์ คนที่ทีสีผิวคล้ำหรือดำมีความเสี่ยงสูงจะเกิดผลข้างเคียงจากการทำเลเซอร์มากกว่าคนสีผิวอื่น เพราะอาจทำให้มันดำลงหรือสว่างขึ้นกว่าสีผิวปกติ รวมถึงอาการพอง และการติดเชื้อ
-
การทำอิเล็กโทรลิซิส การรักษา คือ การใช้เข็มสอดลงไปที่รากขนทีละเส้น แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าทำลายรากขน อาจต้องทำการรักษาหลายครั้ง สำหรับคนที่มีขนสีทองหรือสีขาว การทำอิเล็กโทรลิซิสเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการทำเลเซอร์ การทำอิเล็กโทรลิซิสอาจได้ผลดีแต่ก็อาจสร้างความเจ็บปวดได้ การทายาชาให้ทั่วบนผิวก่อนการรักษาอาจช่วยลดอาการไม่สบายตัวดังกล่าวได้
การใช้ชีวิตประจำวันและการดูแลตนเองที่บ้าน
วิธีการดูแลตนเอง คือ การกำจัดขนแบบชั่วคราว หรือลดการมองเห็นขนที่ไม่ต้องการบนใบหน้าหรือลำตัว ยังไม่มีหลักฐานว่าการกำจัดขนออกด้วยตัวเองจะเป็นสาเหตุทำให้ขนขึ้นมากกว่าเดิม
-
การถอนขน การถอนเป็นวิธีที่ดีในการกำจัดขนที่ขึ้นประปราย แต่ไม่ดีในการกำจัดขนในพื้นที่ใหญ่ๆ การถอนขนปกติแล้วขนก็จะกลับมาเติบโตได้อีก วิธีนี้อาจต้องใช้แหนบ เส้นด้ายเส้นเล็กๆ หรืออุปกรณ์อื่นๆที่ออกแบบมาเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว
-
การโกน การโกนนั้นทำได้รวดเร็วและราคาไม่แพง แต่มีความจำเป็นต้องทำซ้ำๆบ่อยๆ
-
การแวกซ์ การแวกซ์ คือ การทาแวกซ์อุ่นๆลงบนผิวตรงบริเวณของขนที่เราไม่ต้องการ เมื่อแวกซ์เริ่มแข็ง ให้ดึงออกจากผิวเพื่อดึงเอาขนออกมา การแวกซ์จะสามารถกำจัดขนในพื้นที่ใหญ่ๆได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็เป็นการกำจัดขนแบบชั่วคราวและในบางครั้งอาจเป็นสาเหตุทำให้ผิวเกิดอาการระคายเคืองและเป็นรอยแดง แต่เป็นที่นิยมในผู้หญิงขนเยอะ หรือหากเป็นขนขึ้นที่หน้าหลายคนก็อาจใช้วิธีนี้
-
การกำจัดขน คือ การกำจัดขนด้วยสารเคมีที่ทาลงตรงบริเวณผิวที่ต้องการกำจัดขน ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีหลายรูปแบบ เช่นแบบเจล ครีมหรือโลชั่น ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจทำให้ผิวระคายเคือง และเป็นสาเหตุของผิวหนังอักเสบ อาจต้องทำบ่อยๆเพื่อให้ได้ผลสม่ำเสมอ
-
การฟอกสี ด้วยการฟอกให้ขนมีสีสว่างขึ้น ทำให้ยากต่อการสังเกตเห็นโดยเฉพาะในคนที่มีสีผิวสว่าง ผลิตภัณฑ์ฟอกสีขนจะมีไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เป็นส่วนประกอบ ที่อาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคือง ควรทดสอบผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้โดยลองใช้บนพื้นที่เล็กๆ บนผิวก่อนใช้จริง
การเตรียมตัวสำหรับการนัดหมาย
เมื่อมีการนัดหมายแล้ว คุณควรสอบถามพูดคุยถึงสิ่งที่ควรเตรียมตัวก่อนดังต่อไปนี้f:
-
ให้รายละเอียดข้อมูลส่วนตัว รวมไปถึงโรคประจำตัวและวงจรการเปลี่ยนแปลงรอบเดือน หรือความต้องการทางเพศ
-
การรับประทานยา วิตามิน หรืออาหารเสริมอื่นไที่คุณรับประทาน รวมถึงปริมาณที่รับประทานด้วย
-
ถามทุกอย่างที่ต้องการรู้จากแพทย์
สำหรับโรคขนดก ควรสอบถามแพทย์หัวข้อดังต่อไปนี้:
-
สาเหตุของอาการคืออะไร
-
สาเหตุที่อาจเป็นไปได้กับอาการที่เกิดขึ้น
-
มีความจำเป็นต้องตรวจอะไรบ้าง
-
ลักษณะของโรคเป็นแบบชั่วคราว หรือเรื้อรัง
-
คอร์สการรักษาไหนที่ดีที่สุด
-
มีโรคประจำตัว จะมีวิธีไหนบ้างที่จะสามารถนำมารักษาร่วมกันได้บ้าง
-
ควรต้องไปพบผู้เชี่ยวชาญหรือไม่
-
มีใบโฆษณาหรือใบรายละเอียดใดๆให้บ้าง มีเวบไซต์ไหนแนะนำบ้าง
อย่าลังเลที่จะถามคำถามเหล่านี้
สิ่งที่แพทย์ควรรู้
แพทย์จะถามคำถาม เช่น:
-
เริ่มมีอาการตั้งแต่เมื่อไร
-
รอบเดือนมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หรือรอบเดือนมีการหยุดไปหรือไม่
-
น้ำหนักขึ้นหรือไม่
-
มีสิวใหม่ขึ้นหรือไม่
-
ขนาดของหน้าอกมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
-
เคยมีใครบอกว่าเสียงเปลี่ยนหรือไม่
-
วางแผนจะตั้งครรภ์ในเร็วๆนี้หรือไม่
นี่คือที่มาในบทความของเรา
เนื้อหาและรีวิวมาจากผู้เชี่ยวชาญ โดย Bupa team